
หลวงพ่อพระตาตน วัดสำโรงเกียรติ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสะดุ้งมารศิลปะเขมร มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้วสูง ๕ นิ้ว
ประวัติการสร้าง
หลวงพ่อพระตาตน ประดิษฐานอยู่ ณ วัดสำโรงเกียรติ หมู่ที่ ๘ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระพุทธรูปแบบขอมปางสมาธิสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูง ๕ นิ้ว สร้างด้วยเกสรดอกไม้ผสมครั่งหรือยางชันปั้นเป็นพระพุทธรูปเรียกว่า “พระตาตน” ตามคนชื่อของคนที่นำมาถวาย ตาตน เป็น คนเขมรตํ่า มีญาติอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติไปมาหาสู่กันเป็นประจำ วันหนึ่งตาตนได้นำไซไปดักจำปลาที่ร่องนํ้าเชิงเขาทางทิศใต้ของบ้านสำโรงเกียรติ รุ่งขึ้นไปกู้ไซที่ดักเอาไว้ พบพระพุทธรูปติดไซอยู่จึงเอาออกแล้วโยนลงนํ้า ครั้นวันรุ่งขึ้นไปกู้ไซอีกก็เห็นพระพุทธรูปติดไซอยู่ดังเช่นเดิม พิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงได้นำมาฝากไว้ที่บ้านญาติ ครั้นตกกลางคืนตาตนและญาติฝันว่าเอาพระเข้าบ้านจะไม่เป็นมงคลให้เอาไปฝากไว้ที่วัด รุ่งขึ้นตาตนได้นำพระพุทธรูปเกสรไปถวายวัดสำโรงเกียรติเพื่อเป็นสมบัติของวัดต่อไป เจ้าอาวาสจึงได้แจ้งให้ญาติโยมประชาชนใกล้เคียงได้ทราบกันซึ่งต่างพากันมานมัสการอย่างคับคั่ง ทำให้พระตาตนเป็นที่เคารพและบนบานกันมา ต่อมาจึงพากันเรียกขนานว่า หลวงพ่อพระตาตน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พุทธศักราช ๒๔๒๐ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ได้ทราบข่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ จึงได้จัดขบวนช้างม้าไปอาราธนาหลวงพ่อพระตาตน พออารารธนาหลวงพ่อพระตาตนขึ้นบนหลังช้าง และขบวนออกจากวัดสำโรงเกียรติจะข้ามสะพานห้วยทาไปเพียงเล็กน้อย ก็เกิดลมพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก ช้าง ม้า หมอบกราบลงกับพื้น เสียงฟ้าร้องราวกับแผ่นดินจะถล่ม เจ้าเมืองขุขันธ์จึงประกาศคำขาดว่า ถ้าลมฝนหยุดตกก็จะนำหลวงพ่อพระตาตนกลับวัดสำโรงเกียรติที่เดิม เมื่อประกาศคำเสร็จสิ้นลมฝนก็หยุดตกทันที เจ้าเมืองขุขันธ์ได้ประกาศให้นำหลวงพ่อพระตาตนประดิษฐานไว้ที่เดิม ณ วัดสำโรงเกียรติ ต่อมาไม่นานได้เกิดไฟไหม้ที่กุฎีที่หลวงพ่อพระตาตนประดิษฐานอยู่ หลายคนเข้าใจว่าหลวงพ่อพระตาตนคงถูกไหม้หมดอย่างแน่นอน คืนวันต่อมามีชาวบ้านฝันเห็นพระตาตนอยู่ในบ่อลึกและบอกว่าหนาว แต่ผู้ฝันจำไม่ได้ว่าอยู่บ่อไหน และได้เล่าให้คนฟังแต่ไม่มีใครเชื่อเพราะผู้ฝันเป็นเด็ก วันหนึ่งชาวบ้านได้มาตักนํ้าที่บ่อนํ้าภายในวัดมองลงไปเห็นหลวงพ่อพระตาตนลอยนํ้าอยู่ จึงได้อาราธนาหลวงพ่อพระตาตนไว้ที่เดิม ต่อมาสามเณรรูปหนึ่งได้อาราธนาหลวงพ่อพระตาตนใส่พานถือไปบนกุฎีและได้สะดุดพื้นและล้มลง หลวงพ่อพระตาตนจึงตกลงมากระทบกับพื้นจนพระเกศหักต้องเอายางไม้ต่อพระเกศจนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาไม่นานสามเณรรูปนั้นก็ได้มรณภาพลงเพราะความเสียใจที่ทำให้องค์พระบกพร่อง และตรอมใจตาย ด้วยเหตุความศักดิ์สิทธิ์และอภิหารต่าง ๆ จึงมีผู้คนมาเคารพนับถือขึ้นตามลำดับ
คติความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้อง
จากตำนานเรื่องเล่าของหลวงพ่อพระตาตน ผู้คนต่างเลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ เดินทางมาบนบาลศาลกล่าวอยู่เป็นนิจส่วนมากจะขอเรื่องการมีบุตรธิดา และโชคลาภ ผู้ที่มาขอพรและประสบผลสำเร็จก็จะกลับมาแก้บน และการแก้บนที่ท่านชอบคือการบวชชั่วคราว หรือตลอดไป
ข้อมูลจาก สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น | cac.kku.ac.th